รู้หรือไม่? ว่าการนั่งทำงานในออฟฟิศเฉยๆ เป็นเวลานาน ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายได้เหมือนกัน … หากคุณเป็นมนุษย์ออฟฟิศที่ทุ่มเทเวลาและแรงกายในการทำงาน จนเริ่มมีอาการปวดตามหลัง ไหล่ คอ ปวดหัว ปวดตา แล้วล่ะก็ อย่าได้มองข้ามเชียว เพราะเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรค “ออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งถ้าไม่บำบัดรักษา หรือป้องกันตั้งแต่ต้น ก็อาจการกลายเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพในภายหลังได้
อาการของออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง?
- ปวดศีรษะ อาจปวดร้าวถึงตา และมีอาการปวดไมเกรนบ่อยๆ เนื่องจากการใช้สายตามาก มีความเครียดสะสม ความวิตกกังวล และพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ เช่น ปวดหลัง ไหล่ ต้นคอ แขน ข้อมือ นิ้วมือ จากการนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ หากปล่อยไปโดยไม่แก้ไข จะกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นอยู่เฉยๆ ก็ปวดขึ้นมาเองได้
- มีอาการเจ็บ ตึง และชา ตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งพัฒนามาจากอาการปวดเรื้อรัง อาการเหล่านี้เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ มีเอ็นอักเสบทับเส้นประสาท หรือเส้นประสาทตึงตัว จนกลายเป็นอาการชาตามมือตามแขน เส้นยึด และนิ้วล็อค ตามมา
- อาการเหน็บชาและแขนขาอ่อนแรงบ่อยๆ เกิดจากการนั่งนานเกินไป จนการไหลเวียนเลือดผิดปกติ
- นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท เกิดจากความเครียด รวมถึงมีอาการปวดเมื่อย และปวดหัวมารบกวนในเวลานอนเป็นระยะ
อาการของออฟฟิศซินโดรม หากปล่อยไว้โดยไม่บำบัด หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น
- เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรง ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดเลยทีเดียว
- เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า อันมาจากความเครียดสะสม ความกดดัน และบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงาน
- เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการทานอาหารจุบจิบในเวลาทำงาน และไม่มีเวลาออกกำลังกาย
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม
- เกิดจากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ และไม่มีการยืด ขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- เกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป การเพ่งใช้สายตามากๆ บวกกับรังสีจากจอภาพ ทำให้เกิดอาการปวดหัวปวดตาได้
- สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ อุปกรณ์ในออฟฟิศเต็มไปด้วยฝุ่น เป็นต้น
- งานหนักเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน บวกกับสังคมในที่ทำงานเป็นพิษ ทำให้เกิดความเครียดได้
การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม
- อันดับแรก หากเริ่มรู้สึกเมื่อยล้า ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง เช่น ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป
- รักษาโดยใช้ยา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ และให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น
- หมั่นออกกำลังกาย เพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ นอกจากจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ป้องกันเอ็นและข้อยึดแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความเครียด
- ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น เปลี่ยนโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระ ทำความสะอาดออฟฟิศให้โล่งและอากาศถ่ายเทมากขึ้น
- หากอาการรุนแรงถึงขั้นขยับร่างกายลำบาก หรือเดินไม่ได้ อาจต้องใช้เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย
- รักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น การฝังเข็ม การนวดกดจุด เป็นต้น
ออฟฟิศซินโดรมป้องกันได้อย่างไร?
- ควรจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดี และเป็นมิตรแก่ผู้ทำงานแต่แรก ทั้งด้านสถานที่ทำงาน เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ และสังคมในออฟฟิศ
- จัดท่าทางหรืออิริยาบถเวลานั่งทำงานให้เหมาะสม เช่น ไม่นั่งหลังคอหรือเกร็งเกินไป
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อแข็งแรง และเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน
- พักผ่อนให้เพียงพอ จัดสรรเวลางานและเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน หากมีโอกาสควรหาเวลาพักร้อนเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง